นิสสันประกาศเข้าร่วมแคมเปญ Race to Zero ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ เพื่อเร่งสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ และลดคาร์บอนเป็นศูนย์ (carbon neutrality) ซึ่งนิสสันเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายแรกที่เข้าร่วมแคมเปญนี้
นอกจากนี้ นิสสันยังได้ลงนามในปฏิญญาความร่วมมือในโครงการ “Business Ambition for 1.5°C” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของนิสสัน ที่จะช่วยควบคุมอุณหภูมิทั่วโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (pre-industrial levels) นิสสันเข้าร่วมโครงการกำหนดเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์นี้ (Science Based Targets initiative: SBTi) ตามเกณฑ์ที่กำหนดให้ลดการปล่อยคาร์บอนให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดย SBTi ทำการตรวจสอบนิสสันเพื่อรับรองว่าได้ลดการปล่อยคาร์บอนตามหลักภูมิอากาศวิทยา
“เรากำลังสานต่อเจตนารมณ์ของนิสสันผ่านความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ที่มีแนวคิดเดียวกัน ตลอดจนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างความตระหนักรู้ถึงสังคมแห่งความยั่งยืน ด้วยการเข้าร่วมกับ SBTi และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและผลักดันแคมเปญ” มาโกโตะ อูชิดะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของนิสสัน (Makoto Uchida, Nissan President and CEO) กล่าว
“เพื่อเร่งให้สังคมโลกเข้าสู่การลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ นิสสันดำเนินการทุกอย่างด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนร่วมส่งเสริมการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ เรายังยืนหยัดทำหน้าที่องค์กรที่อยู่เคียงข้างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่เสมอมา”
ในปี 2553 นิสสันได้เปิดตัว นิสสัน ลีฟ (LEAF) รถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดเป็นรายแรกของโลก ท่ามกลางกระแสของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก นิสสันสร้างสรรค์นวัตกรรม และความตื่นเต้นเร้าใจให้กับการขับขี่ที่ไร้มลพิษ
ต้นปีที่ผ่านมา นิสสันให้คำมั่นว่าจะบรรลุสู่เป้าหมายลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ผ่านการดำเนินงานและวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ได้ภายในปี 2593 นิสสันขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ Nissan EV36Zero ซึ่งเป็นโครงสร้างการผลิตรูปแบบใหม่ที่รวมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงการผลิตพลังงานหมุนเวียน เข้าไว้ด้วยกัน
อัลแบร์โต การ์ริโย ปีเนดา กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง SBTi (Alberto Carrillo Pineda, Managing Director and Co-Founder, SBTi) กล่าวว่า “ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบที่เลวร้ายจากสภาพอากาศที่เสื่อมโทรม พร้อมเปิดประตูสู่อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์รายแรกจากญี่ปุ่นที่เข้าร่วมในแคมเปญ Business Ambition for 1.5°C นิสสันและบริษัทกว่า 700 แห่งทั่วโลกร่วมเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยมลพิษที่อิงหลักวิทยาศาสตร์และต้องอาศัยความพยายามอย่างสูงที่สุด
“เพื่อให้สอดคล้องกับหลักภูมิอากาศวิทยา นิสสันประกาศอย่างชัดเจนว่าบริษัทพร้อมและเต็มใจในการมีส่วนร่วมเพื่อบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งบริษัทอื่น ๆ ทั่วโลกก็ต้องดำเนินการทันทีเพื่อมุ่งสู่จุดหมายด้านสภาพอากาศ ตลอดจนสนับสนุนเศรษฐกิจโลกในการลดการปล่อยมลพิษจำนวนมากและบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้สำเร็จภายในปี 2593”
อล็อก ชาร์มา ประธานชั่วคราวแห่งการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (Alok Sharma, President Designate, 26th UN Climate Change Conference of the Parties: COP26) กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นนิสสันเข้าร่วมแคมเปญ Race to Zero ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นรายแรกที่สมัครเข้าร่วม และจากโครงการผลิตแบตเตอรี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ (North East England) ให้กับรถยนต์ไฟฟ้า แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำอย่างแท้จริงในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในสหราชอาณาจักร”
“การเข้าร่วม Race to Zero ทำให้นิสสันเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดขององค์กรเอกชน ภาครัฐ นักลงทุน ภูมิภาค และมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และบรรลุการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้สำเร็จอย่างช้าที่สุดภายในปี 2593″
“COP26 เป็นการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ ณ เมืองกลาสโกว์ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดยถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เราต้องรักษาเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสโดยต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดและก้าวไปข้างหน้าด้วยกลยุทธ์ระยะยาวในการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในกลางศตวรรษนี้”
หัวใจสำคัญของแผนลดคาร์บอนเป็นศูนย์ของนิสสัน ได้แก่ การนำเสนอรถยนต์และเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันที่มีการขยายไปจนถึงเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ เอกสิทธิ์เฉพาะจากนิสสัน และนิสสัน อริยะ รถยนต์ไฟฟ้า 100% ครอสโอเวอร์ ทั้งนี้นิสสันวางแผนให้รถยนต์รุ่นใหม่ ที่จะออกสู่ตลาดสำคัญ อย่าง ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ภายในต้นทศวรรษ 2030 ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ทั้งหมด
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นิสสันได้ประกาศถึงความมุ่งมั่นระยะยาวที่จะร่วมในการแข่งขัน ABB FIA Formula E World Championship จนถึงสิ้นสุดฤดูกาลที่ 12 ปี 2025-2026 (พ.ศ.2568-2569) ซึ่งจะนำความตื่นเต้นเร้าใจและความสนุกสนานของรถยนต์ไฟฟ้าแบบไร้มลพิษมาสู่ผู้ชมทั่วโลก
เพื่อเป็นการเร่งจุดประกายให้กับการเดินทางครั้งนี้ ล่าสุดนิสสันได้เปิดตัวโครงการ Nissan EV36Zero ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเรือธงแห่งใหม่ มูลค่า 1 พันล้านปอนด์ในสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นถึงแนวทางแบบ 360 องศาสู่การลดคาร์บอนเป็นศูนย์ของนิสสัน โดยการนำเอารถยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และการผลิตแบตเตอรี่มารวมไว้ด้วยกัน เพื่อเร่งสู่การลดคาร์บอนเป็นศูนย์
นอกเหนือไปจากการพัฒนายานยนต์และเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว นิสสันจะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรทั่วโลกในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาระบบนิเวศไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมไปถึงการผลิตพลังงานหมุนเวียน การกักเก็บพลังงาน การนำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ากลับมาใช้ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 และการพัฒนาโมเดลธุรกิจแบบ ‘4R’ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบไปด้วย Reuse (การใช้ซ้ำ) Refabricate (การสร้างหรือผลิตจากวัสดุหลายชนิดรวมกันใหม่) Resell (การขายต่อ) Recycle (การแปรรูปแล้วกลับมาใช้ใหม่) เพื่อคุณประโยชน์แก่ชุมชน
เกี่ยวกับโครงการริเริ่มเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์
โครงการริเริ่มเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets: SBTi) เป็นโครงการระดับโลกที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษที่มีต้องอาศัยความพยายามสูงโดยสอดคล้องกับภูมิอากาศวิทยาล่าสุด มุ่งเน้นในการเร่งรัดให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งก่อนปี 2573 และบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้สำเร็จก่อนปี 2593 โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างองค์กร Carbon Disclosure Project (CDP) ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute: WRI) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) และเป็นหนึ่งในคำมั่นขององค์กร We Mean Business Coalition ทั้งนี้ SBTi กำหนดและส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการกำหนดเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ นำเสนอข้อมูลและคำแนะนำเพื่อลดอุปสรรคในการนำไปใช้ และประเมิน ไปจนถึงอนุมัติเป้าหมายของบริษัทต่างๆ ได้อย่างอิสระ www.sciencebasedtargets.org @sciencetargets
เกี่ยวกับ Race to Zero
Race to Zero เป็นแคมเปญระดับโลกที่รวบรวมเชิญชวนผู้นำและการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ เมือง ภูมิภาค นักลงทุนต่าง ๆ เพื่อช่วยให้โลกกลับฟื้นคืนสภาพ มีสภาวะแวดล้อมที่ดี ปราศจากมลพิษ และยังปกป้องภัยคุกคามในอนาคต สร้างงานที่ดี และปลดล็อคสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม แคมเปญ Race to Zero ผนึกกำลังจากความร่วมมือของโครงการชั้นนำต่างๆ ที่รณรงค์ลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งมาจาก 733 เมือง 31 ภูมิภาค 3,067 ธุรกิจ นักลงทุนรายใหญ่ที่สุด 173 ราย และ 622 สถาบันอุดมศึกษา ผู้มีบทบาททาง ‘เศรษฐกิจที่แท้จริง‘ เหล่านี้เข้าร่วมกับ 120 ประเทศเป็นกลุ่มพันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา มุ่งมั่นเพื่อบรรลุการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 เป็นอย่างช้า ในภาพรวม ผู้มีบทบาทสำคัญเหล่านี้ปัจจุบันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันเกือบร้อยละ 25 ทั่วโลก และมีค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) สูงกว่าร้อยละ 50
เกี่ยวกับ Business Ambition for 1.5°C
แคมเปญเพื่อช่วยผลักดันให้บริษัทต่างๆ ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (pre-industrial levels) ในการเข้าร่วมแคมเปญดังกล่าวนี้ ผู้เข้าร่วมจะต้องกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ หรือ SBT