ในโครงการ ‘เปลี่ยนความรู้ สู่อาชีพ’ ปีที่ 7
ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการศึกษาระบบทวิภาคี พร้อมมอบทุนการศึกษา 2 ล้านบาท และเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.0 ลิตร ไบ-เทอร์โบ พร้อมเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ที่ใช้ในรถฟอร์ด เรนเจอร์ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ สำหรับใช้เป็นสื่อการสอน ให้นักศึกษาสาขาช่างยนต์ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในรถยนต์รุ่นใหม่ของฟอร์ด
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ นับเป็นปีที่ 7 ตั้งแต่ฟอร์ดได้ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ภายใต้โครงการ ‘เปลี่ยนความรู้ สู่อาชีพ’ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชน และพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเป้าที่นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาช่างเมคาโทรนิคส์ และสาขาช่างยนต์
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่เข้าร่วมโครงการ นักศึกษาสาขาช่างเมคาโทรนิคส์ จะมีโอกาสฝึกฝนทักษะการทำงานจริงในหน่วยงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรในโรงขึ้นรูปตัวถังรถ โรงประกอบโครงสร้างตัวถังรถ โรงพ่นสีรถ โรงประกอบชิ้นส่วนรถ และหน่วยงานวิศกรรมโรงงาน ณ โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง หรือเอฟทีเอ็ม ขณะที่นักศึกษาสาขาช่างยนต์จะเข้ารับการฝึกฝนทักษะการทำงานจริง พร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมการบริการลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีเมื่อลูกค้านำรถมาเข้ารับบริการ ที่ศูนย์บริการฟอร์ดในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง
ความร่วมมือในครั้งนี้ยังครอบคลุมถึง:
- การสนับสนุนและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาช่างเมคาโทรนิกส์ และช่างยนต์
- การส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น การศึกษาดูงาน การเปิดโอกาสในการฝึกปฏิบัติงาน
- การสนับสนุนบุคลากรของวิทยาลัยในการให้ความรู้เพิ่มเติม
“เรามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างอนาคตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน ให้กับวงการยานยนต์ไทย” นายรัฐการ จูตะเสน กรรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าว “โครงการนี้จึงเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความรู้กับการปฏิบัติ ช่วยเตรียมให้เยาวชนพร้อมก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม และนำพาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ความก้าวหน้า”
ในปีนี้ นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ พนักงานฟอร์ด และบุตรของพนักงานฟอร์ด ที่เข้าร่วมโครงการ ‘เปลี่ยนความรู้ สู่อาชีพ’ รุ่นที่ 7 มีทั้งหมด 14 คน แบ่งเป็นสาขาเมคราโทรนิคส์ 9 คน และสาขาช่างยนต์ 5 คน โดยนับตั้งแต่โครงการนี้ได้เริ่มขึ้นในปี 2560 ฟอร์ดได้มอบทุนการศึกษาให้กับพนักงานฟอร์ด บุตรของพนักงานฟอร์ด และนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบแล้วถึง 54 คน รวมเป็นเงินทุนการศึกษากว่า 8,484,000 บาท
มร.วินโค้ ซาริค ผู้จัดการโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง กล่าวว่า “เมื่อผมมองเห็นนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ผมนึกถึงตัวเองตอนหนุ่มๆ ที่อยากเรียนรู้ และมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ผมมั่นใจว่า โครงการนี้จะจุดประกายความฝัน และปลูกฝังทักษะที่จำเป็น เพื่อให้เยาวชนได้เติบโตเป็นช่างฝีมือชั้นนำ และสร้างผลงานที่น่าภาคภูมิใจในอนาคต”