คณบดี CADT DPU ระบุความต้องการแรงงานสนับสนุนภาคพื้นดินพุ่ง (Ground Support)

คณบดี CADT DPU ระบุความต้องการแรงงานสนับสนุนภาคพื้นดินพุ่ง (Ground Support)

เหตุอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 เร็วกว่าที่คาดการณ์ เผยเดินหน้าเต็มสูบผลิตบัณฑิตคุณภาพป้อนตลาด

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT: College of Aviation Development and Training ) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. ที่รายงานว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยปี 2565 เริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19 โดยมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 75,815,455 คน และมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 570,360 เที่ยวบิน ทั้งนี้ กพท.คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจากทั่วโลกจะฟื้นตัวเท่ากับปี 2562 ในปี 2567–2568  จากข้อมูลดังกล่าวนับเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมการบินที่เริ่มกลับมาเหมือนเดิม แต่เนื่องจากการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมการบินที่หายออกไปจากระบบบางส่วนไม่กลับเข้ามา และในส่วนที่กลับเข้ามาก็มีปริมาณไม่พอกับตามความต้องการ เพราะบางสายงานต้องใช้ทักษะในการทำงาน ต้องผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานด้านต่าง ๆ ก่อนเข้าทำงานด้วย

และหนึ่งในความต้องการแรงงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมการบินขณะนี้ คือ พนักงานสนับสนุนการบริการภาคพื้นดิน (Ground Support) ซึ่งต้องดูแลผู้โดยสารตั้งแต่เช็คอิน โหลดกระเป๋า ตรวจบอร์ดดิ้งพาส สื่อสารระหว่างภาคพื้นกับลูกเรือ ฯลฯ ด้วยอุตสาหกรรมการบินมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน อาทิ การท่องเที่ยว การขนส่งสินค้า การบริการ ฯลฯ  เมื่อภาคธุรกิจเหล่านี้ฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ด้วยประเทศไทยมีเสน่ห์ทั้งจากแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และยังมีอาหารไทยที่เป็น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญประเทศไทยมีการบริหารจัดการในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ดีในระดับต้น ๆ ของโลก ความปลอดภัยด้านนี้ค่อนข้างสูง  จึงทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ปริมาณการให้บริการภาคพื้นสนามบินจึงมากขึ้นตามไปด้วย

“ปัญหาของฝั่งที่ทำงานด้านภาคพื้นดิน คือ ปริมาณงานมีมากกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ เพราะการทำงานในภาคส่วนนี้ จำเป็นต้องมีการฝึกอบรม  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยด้านต่าง ๆ ซึ่งต้องเข้มข้นมาก ๆ ไม่ใช่ว่ารับเข้าทำงานแล้วจะทำงานได้เลย ปริมาณเจ้าหน้าที่ให้บริการภาคพื้นดินจึงไม่เพียงพอต่อภาระงาน จะเห็นได้ว่า บริษัทต่าง ๆ มีความต้องการแรงงานด้านภาคพื้นจำนวนมาก บางบริษัทมีความต้องการพนักงานด้านนี้จำนวนกว่า 500 คน และหลายบริษัทต้องการนักศึกษาฝึกงานจำนวนมาก มีที่ติดต่อขอนักศึกษาฝึกงานกับทางวิทยาลัยแต่ก็ไม่สามารถป้อนให้ได้ตามจำนวนที่บริษัทต้องการ” นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา กล่าว

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มธบ.หรือ CADT DPU ในฐานะสถาบันการศึกษา ที่มุ่งมั่น สร้างมืออาชีพด้านธุรกิจการบิน ที่ต้องมีทั้งความรู้ ทักษะและประสบการณ์ และมีใจรักในงานบริการ (Knowledge, Skill and Service Mind)  โดยวิทยาลัยฯ มีความพร้อมทั้งหลักสูตรการเรียน การสอน บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเปิดการสอนในระดับปริญญาตรี 2 หลักสูตร คือ ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาธุรกิจการบิน และ สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการบิน (และการอำนวยการบิน)  และยังมีหลักสูตรฝึกอบรมด้านการบินสำหรับบุคคลทั่วไป ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นด้านการบินต่าง ๆ ที่เป็นหลักสูตรมาตรฐานสากล นอกจากนี้ DPU Aviation Academy (DAA) ของ CADT DPU ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินครบวงจรที่สำคัญของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก IATA ถึง 6 ปีซ้อน ตอบสนองนโยบายของรัฐในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน

คณบดี CADT DPU กล่าวในตอนท้ายว่า วิทยาลัยฯ มีความพร้อมในการผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งจากการสำรวจบัณฑิตที่จบออกไปพบว่า 92% มีงานทำ ส่วน 8% เรียนต่อและสานต่อธุรกิจของครอบครัว อย่างไรก็ดี จากการคาดการ์ของ กพท.ที่ระบุว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเหมือนเดิมในปี 2567-2568 ดังนั้น จะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นแน่นอน จึงนับเป็นโอกาสของผู้ที่สนใจศึกษาต่อด้านการบิน เพราะงานในอุตสาหกรรมการบิน มีมากถึง 9 ลักษณะงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน  เจ้าหน้าที่ภาคพื้น เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งเดิมลักษณะงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง(Direct) เช่นนี้ ช่วงก่อนโควิด-19 มีจำนวนแรงงานกว่า 300,000 คน  แต่หายไปจากระบบช่วงโควิด-19 ประมาณ 100,00 คน คาดว่าเมื่ออุตสาหกรรมการบินกลับมาปกติ ความต้องการแรงงานด้านการบินน่าจะมีจำนวนกว่า 100,000 ตำแหน่งแน่นอน           

สำหรับผู้สนใจศึกษาต่อด้านการบินที่ วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  https://cadt.dpu.ac.th/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *