ทีม Global Minds จากเชลล์ ประเทศไทย คว้ารางวัลชนะเลิศ

ทีม Global Minds จากเชลล์ ประเทศไทย คว้ารางวัลชนะเลิศ

การแข่งขันออกแบบเมืองแห่งอนาคต IMAGINE THE FUTURE SCENARIOS COMPETITION 2020/2021 ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง

บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เดินหน้าส่งเสริมพลังของคนรุ่นใหม่ในการเป็นผู้นำออกแบบเมืองแห่งอนาคตและเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยส่งทีม Global Minds  ซึ่งประกอบด้วยเยาวชนไทยจากหลากหลายมหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนเข้าแข่งขัน Imagine the Future Scenarios Competition 2020/2021 ซึ่งเป็นโครงการที่ให้คนรุ่นใหม่จากทวีปเอชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง นำเสนอสถานการณ์จำลองในอนาคต ทั้งการดำรงชีวิตและการทำงาน ในปีนี้มีเยาวชนจำนวน 277 ทีม จากอียิปต์ สิงคโปร์ และไทย เข้าร่วมแข่งขัน  โดยทีม Global Minds ได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย คว้ารางวัลชนะเลิศพร้อมเงินรางวัล 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ด้วยแนวคิด “Modern Dragon vs Blind Falcon”

เยาวชนในปัจจุบันมองโลกของเราใน พ.ศ 2593 อย่างไร โลกของเราจะเป็นอย่างไรใน พ.ศ 2593  บ้านเราจะจมอยู่ใต้น้ำหรือไม่  ชีวิตของเราจะถูกปกครองโดยปัญญาประดิษฐ์หรือไม่ เหล่านี้คือคำถามที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ได้สำรวจ และจำลองสถานการณ์ เพื่อเสนออนาคตที่มีความสมเหตุสมผล โดยเชลล์ได้จัดการแข่งขันนี้ขึ้นเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน  เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการได้รับมอบหมายให้จินตนาการถึงพลังงานที่สะอาดยิ่งขึ้นของเมืองในทวีปเอเชียหรือตะวันออกกลางในพ.ศ 2593 รวมถึงวิธีที่เมืองจะเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตและการทำงาน

นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เชลล์ขอแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนทุกคนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมือง ขณะที่ตอบรับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่ทุกคนเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต  เชลล์ ประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อ Powering Progress อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน สำหรับการสานต่อเจตนารมณ์ Trusted Partner for Better Life พันธมิตรที่ไว้วางใจได้นั้น โครงการประกวดแนวคิดมีส่วนสนับสนุนและเปิดเวทีให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตในแบบที่คนรุ่นใหม่จิตนาการและทำให้เกิดขึ้นร่วมกันได้ ผมเชื่อมั่นในพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะร่วมมือกันพัฒนาเมืองแห่งอนาคตและสร้างเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดต่อไป

สำหรับตัวแทนทีมเยาวชนไทย ผมมีความภูมิใจและหวังว่าน้องๆ จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนมิตรภาพในระดับภูมิภาคนี้ ไปต่อยอดทางความคิดและส่งต่อพลังงานที่สร้างสรรค์ของพวกเขา เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและดียิ่งขึ้นบนความร่วมมือของทุกคนในสังคม”

สำหรับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศแบบเสมือนจริง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 นอกจากเยาวชนจากประเทศไทยจะได้รับรางวัลชนะเลิศแล้ว ยังมีเยาวชนจาก American University Cairo ประเทศอียิปต์ที่จำลองสถานการณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ณ

เมืองอเล็กซานเดรียในพ.ศ. 2593 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และ Nanyang Technological University จากสิงคโปร์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง นำเสนอแบบจำลอง Sang Kancil vs Buto Ijo

ทีม Global Minds ตัวแทนประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกในทีม 5 คน ประกอบด้วย น.ส.นัชชา ยงพิพัฒน์วงศ์ จาก University of Oxford นายคณิน ตั้งชาติสิริ จาก University of Illinois at Urbana Champaign นายอยุช โคการ์ จาก University of British Columbia น.ส.ชนารดี ลีลาแม้นเทพ จาก Carnegie Mellon University และ น.ส.แครี่ เหล่าฤกษ์อุทัย จาก University of British Columbia เปิดเผยความรู้สึกหลังคว้ารางวัลชนะเลิศ ว่า “พวกเราภูมิใจและดีใจที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ เพราะการแข่งขัน IMAGINE THE FUTURE ทำให้เปิดโอกาสให้ได้คิด และขยายมุมมองโลกทัศน์ของพวกเราให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของพลังงาน การพัฒนากระบวนการคิด และการจำลองสถานการณ์อย่างถูกต้องและครอบคลุม ผ่านการตีโจทย์ต่างๆ รวมถึงการได้ทำโปรเจกต์ การเรียนรู้การใช้เครื่องมือการทำ scenarios เพื่อวางรูปแบบของเมืองในอนาคตที่ต้องการเห็น และได้พบกับผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ ที่มาให้ความรู้และคำแนะนำต่างๆ เป็นอย่างดี”

ทีม Global Minds ได้นำเสนอแบบจำลองสถานการณ์เมืองแห่งอนาคต “ฮ่องกง”  ด้วยแนวคิด “Modern Dragon vs Blind Falcon”  โดยคาดการณ์ถึงความท้าทายต่างๆ ในอนาคตที่ฮ่องกงจะต้องเผชิญหน้าในพ.ศ. 2593  ตามหลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ด้วยการฉายภาพอนาคต 2 รูปแบบภายใต้เงื่อนไขการปกครองต่างกัน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออนาคตของฮ่องกง คืออำนาจการปกครองของจีนต่อฮ่องกงใน 2 รูปแบบ คือ 1. “มังกรยุคใหม่” (Modern Dragon) หมายถึงฮ่องกงภายใต้การปกครองของจีนอย่างเต็มรูปแบบ เป็นเมืองที่มีอัตราภาษีสูง เป็นรัฐสวัสดิการที่แข็งแกร่ง มีการอุดหนุนโครงการการศึกษา STEM ในฮ่องกงและเชินเจิ้น รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศด้วยแรงงานที่มีทักษะ และการนำเทคโนโลยีใหม่รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้อย่างรวดเร็ว โดยฮ่องกงจะยังคงรักษาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในฐานะเมืองท่าสำคัญ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม และ 2. “เหยี่ยวตาบอด” (Blind Falcon) คือฮ่องกงยังคงเป็นเขตปกครองพิเศษของจีนต่อไปอีก 50 ปี โดยผู้คนค่อยๆ ยอมรับการปกครองของปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม สังคมยังคงแบ่งแยกความเชื่อ ในเชิงเศรษฐกิจ ฮ่องกงยังคงรักษาสถานะเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย และกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับความร่วมมือเชิงนวัตกรรมระหว่างตะวันออกและตะวันตก

สำหรับสถานการณ์จำลองอื่นๆ ได้แก่

American University Cairo จากอียิปต์ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง นำเสนอแบบจำลอง Modern Atlantis vs Green Osiris จากคำถามที่ว่า อเล็กซานเดรียสามารถหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในพ.ศ. 2593 ได้หรือไม่ ในอนาคตที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทีมจากอียิปต์ได้พิจารณาตัวแปรต่างๆ เช่น ระบบเศรษฐกิจที่มีอำนาจมากขึ้น การดำเนินการด้านสภาพอากาศ ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม และการแปลงสู่การเป็นดิจิทัล เพื่อกำหนด 2 รูปแบบที่เกี่ยวกับอนาคตที่อเล็กซานเดรียในพ.ศ.  2593 รูปแบบที่ 1 “แอตแลนติสยุคใหม่” (Modern Atlantis) คือแอตแลนติสสมัยใหม่ที่ระบบทุนนิยมจะช่วยให้สิ่งแวดล้อมฟื้นตัวและยกระดับคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคล เมืองอเล็กซานเดรียจะเป็นเมืองอัจฉริยะที่มีคาร์บอนต่ำ โดยใช้ประโยชน์จากเทรนด์ดิจิทัลล่าสุดและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนต่างๆ นอกจากนี้ยังจะกลายเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศที่เป็นสากลเนื่องจากระบบเครือข่ายใต้ทะเลแบบไฮเปอร์ลูปที่เชื่อมต่อประเทศอเล็กซานเดรียและเมดิเตอร์เรเนียน รูปแบบที่ 2 “เทพเจ้าโอไซริสที่สมบูรณ์” (Green Osiris) โดยประชาคมระหว่างประเทศรวมถึงอเล็กซานเดรียจะใช้ระบบเศรษฐกิจสังคม 2.0 ของอียิปต์ โดยจะปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ด้วยการใช้นโยบายที่ก้าวหน้าและใช้พลังงานนิวเคลียร์ สังคมจะเปลี่ยนจากการบริโภคนิยมแบบตามใจชอบ เป็นวิถีชีวิตที่ร่ำรวยซึ่งเต็มไปด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความอยากรู้ และการแสดงออกที่เน้นความเป็นตัวของตัวเอง

Nanyang Technological University จากสิงคโปร์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง นำเสนอแบบจำลอง Sang Kancil vs Buto Ijo ที่มาจากคำถามว่า กรุงจาการ์ตาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้อยู่รอดใน พ.ศ. 2593 ทีมสิงคโปร์มุ่งเน้นไปที่วิธีที่กรุงจาการ์ตาสามารถปรับตัวให้เข้ากับปัญหา 2 ประการคือการที่เมืองจะจมน้ำและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ที่สะท้อนถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญ ซึ่งอาจนำไปสู่การที่เมืองใหญ่ๆ จะจมอยู่ใต้น้ำในช่วงกลางศตวรรษ โดยกำหนดแนวคิด 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 คือ “กวางเมาส์” (Sang Kancil) แสดงให้เห็นถึงกรุงจาการ์ตาที่ทนต่อการทรุดตัวของที่ดิน ผ่านนโยบาย การวางแผน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยจะตรวจสอบแนวทางต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ ตั้งแต่สิ่งก่อสร้างทางวิศวกรรมไปจนถึงการแก้ปัญหาทางสังคมเชิงระบบ เพื่อเอาชนะการทรุดตัว รูปแบบที่ 2 คือ “ยักษ์ใหญ่สีเขียว” (Buto Ijo) ที่จำลองกรุงจาการ์ตาที่กำลังปรับตัวเข้ากับความปกติใหม่ – ของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และสำรวจว่าอิทธิพลจากต่างประเทศและในประเทศสามารถช่วยให้จาการ์ตายังคงความก้าวหน้าในพ.ศ. 2593  แม้จะมีปัญหาการทรุดตัวก็ตาม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *