ลองนึกภาพเวลาที่คุณขับรถไปบ้านเพื่อนในวันที่อากาศร้อนจัด และคุณพยายามทำให้ห้องโดยสารเย็นลงด้วยการเอื้อมมือไปที่คอนโซลแล้วหมุน หรือกดปุ่มเปิดแอร์อย่างเคยชิน แต่สำหรับวิศวกรแล้ว ขั้นตอนง่ายๆ นี้ต้องใช้ความใส่ใจในรายละเอียดเป็นอย่างมาก
ขณะที่ทีมนักออกแบบและวิศวกรร่วมกันพัฒนานิสสัน อริยะ (Nissan Ariya) รถยนต์ไฟฟ้า 100% ครอสโอเวอร์ ไม่เพียงแต่พวกเขาจะวิเคราะห์หลักการยศาสตร์ (Ergonomics) ของการเอื้อมมือไปกดปุ่มต่างๆ แต่ยังตั้งใจที่จะออกแบบหน้าตาและสัมผัสใหม่ให้กับการปรับและควบคุมการทำงานต่างๆ ที่ผู้ขับขี่คุ้นเคย ซึ่งพวกเขาจะต้องคำนวณพื้นที่ห้องโดยสาร ผิวสัมผัส และการจัดวางตำแหน่งใหม่ทั้งหมด
ภายในห้องโดยสารของนิสสัน อริยะถูกออกแบบให้เปิดโล่ง กว้างขวาง ให้ความรู้สึกเงียบสงบ การออกแบบที่ต่างออกไป คือ คอนโซลหน้ารถที่ไร้ซึ่งปุ่มกดแบบเดิมๆ แผงคอนโซลลายไม้ที่ออกแบบมาอย่างมีสไตล์ ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันทีเมื่อสตาร์ทเครื่องและปุ่มควบคุมที่อยู่ใต้คอนโซลก็สว่างขึ้นมาบนพื้นผิวคอนโซล แผงควบคุมแบบสัมผัสถูกออกแบบมาให้สวยงามและใช้งานง่าย
ปุ่มควบคุมที่ตอบสนองการสัมผัสผ่านปลายนิ้วใช้หลักการเดียวกับระบบสัมผัสบนสมาร์ทโฟน เมื่อต้องปรับอากาศหรือเปลี่ยนโหมดการขับขี่ ผู้ขับขี่เพียงเลือกรูปไอคอนที่คุ้นเคย เมื่อสัมผัสไปที่ปุ่มก็จะตอบสนองด้วยการสั่นและมีเสียง (Haptic) ช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่เสียสมาธิบนท้องถนน การที่ทีมออกแบบเลือกการควบคุมแบบสัมผัสมาใช้กับอริยะนั้นสะท้อนถึงแนวคิดการออกแบบสไตล์ Timeless Japanese Futurism
ฮิเดกิ ทาโกะ นักออกแบบอาวุโส (Hideki Tago, Senior Designer) อธิบายว่า “เราออกแบบแผงควบคุมให้เรียบง่ายด้วยการผสานปุ่มสัมผัสเข้ากับคอนโซลนลายไม้โดยไม่ให้กระทบต่อการใช้งาน และคงความสวยงามเอาไว้”
“การใช้ลวดลายลายไม้บนแผงพลาสติกด้วยกระบวนการพิมพ์ด้วยน้ำ ให้ความรู้สึกเหมือนไม้จริงมาก และทำให้ไอคอนโปร่งแสงดูมีชีวิตชีวาขึ้นเมื่อมีไฟติดขึ้นมา”
เมื่อทีมออกแบบสรุปเป้าหมายที่ต้องการได้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของทีมวิศวกรที่ต้องทำให้แนวคิดการออกแบบแนวไซไฟให้กลายเป็นจริง ซึ่งขั้นตอนนี้รวมถึงการจัดวางเทคโนโลยีอย่างละเอียด
ปุ่มควบคุมแบบสัมผัสในอริยะปรากฎอยู่ในสองส่วนภายในตัวรถ ส่วนแรกคือแผงคอนโซลด้านหน้าและที่พักแขนตรงกลางแบบปรับได้ เป้าหมายไม่ใช่แค่นำเทคโนโลยีมาผสานกับการออกแบบห้องโดยสารเพื่อให้ผู้ใช้งานประทับใจ แต่ทำให้ได้เทคโนโลยีที่เป็นธรรมชาติและตอบสนองการใช้งานได้ดีสำหรับผู้ขับขี่ที่หลากหลายด้วย
หลังจากที่ทดลองกันอยู่พักใหญ่ ทีมงานก็เลือกใช้ปุ่มไฟฟ้าสถิตซึ่งไม่เพียงใหญ่กว่าปุ่มสัมผัสทั่วไป แต่ยังมีระยะห่างมากขึ้น เพื่อให้ความรู้สึกเสมือนจริงตามสัญชาติญาณแก่ผู้ใช้งาน อีกทั้งยังให้ความรู้สึก “เด้งขึ้นมา” จากแรงกดอากาศ ซึ่งช่วยให้รู้สึกถึงการตอบสนอง เสมือนเสียงคลิกจากปุ่มแบบดั้งเดิม
จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการปรับจูนการสั่นและเสียง “การสั่นและเสียงเป็นของคู่กัน” โทโมทากะ อิการาชิ วิศวกรผู้รับผิดชอบการพัฒนาการสื่อสารระหว่างผู้ใช้งานกับจอแสดงผลภายในห้องโดยสารของอริยะ (Tomotaka Igarashi, engineer in charge of the Ariya’s interior HMI development) อธิบาย “อาจดูไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ขั้นตอนนี้ท้าทายให้ทีมเราพัฒนาเสียงที่ไม่เหมือนใครซึ่งอยากให้ถูกใจผู้ขับขี่และทำงานได้อย่างเหมาะสมที่สุด
การใส่ใจทุกรายละเอียดในรถยนต์ไฟฟ้า 100% ครอสโอเวอร์เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากเครื่องยนต์ไฟฟ้าปล่อยเสียงออกมาน้อยมาก ทำให้ผู้ขับขี่ได้ยินเสียงที่ทีมสร้างขึ้นอย่างชัดเจน การพัฒนาปุ่มควบคุมแบบสัมผัสต้องผ่านการทดสอบหลากหลายรูปแบบเพื่อให้แน่ใจว่าสะดวกต่อการใช้งาน มีการทดสอบกับนิ้วมือและเล็บหลากหลายขนาด ใช้แรงกดและมุมที่แตกต่างกัน รวมถึงการใช้งานในขณะที่สวมถุงมือ
นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งตัวของอย่างการผสานการออกแบบและการใช้งานในกระบวนการพัฒนาอริยะตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อมอบประสบการณ์การขับขี่และการตอบสนองที่เป็นเอกลักษณ์