ขับไม่เสี่ยง เลี่ยงอุบัติเหตุขับรถกลางคืน

ขับไม่เสี่ยง เลี่ยงอุบัติเหตุขับรถกลางคืน

ขับรถกลางคืน เสี่ยงจากสาเหตุอะไรบ้าง 

  • ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง

สาเหตุ: การขับรถกลางคืนจะส่งผลให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง ซึ่งรวมถึง การรับรู้ความใกล้ไกล การแยกสีต่างๆ การมองเห็นรอบข้าง และตาพร่ามัวชั่วคราวเนื่องจากไฟสูง นอกจากนี้ ยังมีอาการที่เรียกว่ามองไม่ชัดตอนกลางคืน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจในการขับขี่

คำแนะนำ: ควรขับให้ช้าลงและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น หมั่นทำความสะอาดของกระจกรถยนต์ทั้งด้านใน และด้านนอก เพื่อให้มองเห็นเส้นทางและเหตุการณ์รอบตัวได้ชัดเจนมากขึ้น และหากสวมแว่น ควรเลือกเลนส์ลดการสะท้อนและป้องกันแสงจ้า

  • ชั่วโมงเร่งด่วน และความเหนื่อยล้า

สาเหตุ: การขับรถช่วงกลางคืนหลังจากทำงานมาทั้งวัน อาจมีอาการเหนื่อยล้า ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการขับขี่อย่างปลอดภัย โดยอาการที่เกิดจากความเหนื่อยล้าขณะขับรถ อาจรวมถึง สูญเสียความตื่นตัว หาว และหากมีอาการอ่อนเพลียมาก อาจหลับใน และนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้

คำแนะนำ: ถ้าง่วงควรพักแวะข้างทาง หรือควรหลีกเลี่ยงการขับรถโดยเด็ดขาด หากยังไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ หรือหากจำเป็นต้องเดินทาง ควรมีผู้ร่วมสัญจรที่สามารถช่วยขับผลัดเปลี่ยนกันได้ 

  • การเสียสมาธิระหว่างขับรถตอนกลางคืน

สาเหตุ: การขับรถกลางคืนจำเป็นต้องโฟกัสมากกว่าเดิม ผู้ขับขี่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้เสียสมาธิ หรือรู้สึกว่าเบี่ยงเบนความสนใจได้ เช่น การใช้โทรศัพท์ระหว่างขับขี่ หรือเปิดแสงจากโทรศัพท์สว่างจ้าเกินไป เพราะจะทำให้ผู้ขับขี่ไม่ระวังต่อสิ่งหรือเหตุการณ์ที่อยู่รอบๆ ตัว

คำแนะนำ: หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ ทานอาหาร ใส่เสื้อผ้า หรือแต่งหน้า ถ้าหากเป็นไปได้ ควรปิดการแจ้งเตือนโทรศัพท์ขณะขับขี่ เพิ่มความสนใจต่อเหตุการณ์รอบตัว และขับรถด้วยความระมัดระวัง

  • การขับรถขณะมึนเมา

สาเหตุ: การขับรถขณะมึนเมา ส่งผลให้การตอบสนองของร่างกายต่อเหตุการณ์ต่างๆ ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลต่อการตัดสินใจ อย่างเช่น การเหยียบเบรกช้าลง เป็นต้น ความไม่พร้อมของผู้ขับขี่เป็นเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ที่สำคัญคือ หากเกิดอุบัติเหตุเพราะเมาแล้วขับ บริษัทประกันบางรายยังไม่คุ้มครองอีกด้วย

คำแนะนำ: เมื่อจำเป็นต้องขับรถกลางคืน ควรขับไม่เสี่ยง เลี่ยงไม่ดื่ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทั้งตัวเองและเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน ยิ่งเข้าช่วงปลายปี ที่ผู้คนมักออกมาสังสรรค์ ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง ถ้าหากต้องขับรถ ควรเลือกเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เครื่องดื่มไฮเนเก้น 0.0 เครื่อมดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ให้ได้สังสรรค์ได้อย่างสนุกเต็มที่ แม้ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ขับไม่เสี่ยง เลี่ยงไม่ดื่ม

คำว่า “เมา” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึก เพราะกฎหมายได้กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไว้ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ขับขี่อายุไม่เกิน 20 ปี ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเมาแล้วขับ ส่วนคนที่มีอายุเกิน 20 ปี ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เทียบเท่าประมาณเบียร์ 1 กระป๋องหรือสุราไม่เกิน 3 ฝา หากเกินกว่านี้จะถือว่าเมาสุรา

  • เมื่อ “เมาสุรา” ตามกฎหมายเมาแล้วขับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หากเลี่ยงไม่เป่าวัดระดับแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000-200,000 บาท

ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) กำหนดโทษกรณีเมาแล้วขับ ถ้าทำผิดครั้งแรก จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทำความผิดครั้งแรก จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท (ศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ)

  • หากเมาแล้วขับแล้วทำให้เกิดอุบัติเหตุ
  • ผู้อื่นบาดเจ็บ มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท ระงับใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี
  • ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส มีโทษจำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท ระงับใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี
  • ผู้อื่นเสียชีวิต มีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000 – 200,000 บาท พร้อมเพิกถอนใบขับขี่

ความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงกลางคืนที่ผู้ใช้รถใช้ถนนอาจมีสภาพไม่พร้อม มาร่วมกันรณรงค์ ขับไม่เสี่ยง เลี่ยงไม่ดื่ม เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่นในทุกๆ วัน เสริมสร้างการขับขี่อย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้การขับขี่ปลอดภัยมากขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *