ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย คว้ารางวัลชนะเลิศ “Go Further Innovator Scholarship 2020”

ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย คว้ารางวัลชนะเลิศ “Go Further Innovator Scholarship 2020”

ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และทีวีบูรพา จัดประกวดสุดยอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ประจำปี 2020 ในหัวข้อ ‘เทคโนโลยี ROAD SAFETY เพื่อทุกชีวิตปลอดภัยบนท้องถนน’ มอบทุนการศึกษารวม 40 ทุน มูลค่า 840,000 บาท ในโครงการทุนการศึกษา Go Further Innovator Scholarship ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยการนำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้น ณ TTA Space ห้อง Twin Hall ชั้น 6 ศูนย์การค้า MBK Center

ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศในระดับอุดมศึกษา จากผลงาน ‘ระบบลดอัตราการหดตัวของรูม่านตาอย่างฉับพลัน เมื่อผู้ขับขี่ยานพาหนะออกจากอุโมงค์’ ได้รับทุนการศึกษารวม 150,000 บาท ขณะที่ทีมจากวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จังหวัดระยอง คว้ารางวัลชนะเลิศในระดับอาชีวศึกษา จากผลงาน ‘ขาตั้งนิรภัยปลอดภัยไว้ก่อน’ ได้รับทุนการศึกษารวม 150,000 บาท นอกจากนี้ ฟอร์ดยังมอบรางวัลรองชนะเลิศให้แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันในรอบสุดท้ายทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษารวม 18 ทีม ทีมละ 30,000 บาท เป็นทุนการศึกษาทั้งสิ้น 40 ทุน รวม 840,000 บาท

การประกวดเฟ้นหาสุดยอดโครงงานสุดยอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์หัวข้อ “เทคโนโลยี ROAD SAFETY เพื่อทุกชีวิตปลอดภัยบนท้องถนน” ของโครงการทุนการศึกษา Go Further Innovator Scholarship ในปี 2020 ได้รับเกียรติจาก ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายสนิท สุวรรณศร ประธานมูลนิธิร่วมพัฒนาชนบทไทย-อาเซียน และผู้บริหารสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และนายชวน อวิโรธนานนท์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์วิศวกรรม โรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประเทศไทย ให้เกียรติร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน

ผลงานชนะเลิศโครงงานสิ่งประดิษฐ์ในระดับอุดมศึกษา ได้แก่ ผลงาน ‘ระบบลดอัตราการหดตัวของรูม่านตาอย่างฉับพลัน เมื่อผู้ขับขี่ยานพาหนะออกจากอุโมงค์’ จากทีมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วย นายปภังกร สุขเพ็ญ นายวชิรวิทย์ รางแดง และ นายพชร ยินดี โดยมี ดร.ชาญชัย เตชะวัชราภัยกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยระบบดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่ปลายอุโมงค์  ซึ่งจะเกิดแสงวาบขึ้นเมื่อรถเคลื่อนตัวถึงปลายอุโมงค์เนื่องจากระดับแสงภายในและภายนอกอุโมงค์มีความเข้มที่ต่างกันมากจึงทำให้รูม่านตาของผู้ขับขี่ปรับตัวไม่ทันส่งผลต่อวิสัยทัศน์ของผู้ขับขี่และทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ระบบที่นักศึกษาพัฒนาขึ้นจะเริ่มควบคุมแสงภายในรถเมื่อตั้งแต่อยู่กลางอุโมงค์ โดยจะใช้ข้อมูลความเข้มของ UV จากเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่ด้านหน้ารถหรือคำนวนระยะทางจาก GPS โดยเซ็นเซอร์วัดแสงภายนอกและภายใน ระบบจะเริ่มทำการปรับสายตาโดยการใช้ไฟ LED ในการเพิ่มหรือลดความสว่างภายในรถให้เหมาะสมทำให้ลดการเกิดแสงวาบช่วงปลายอุโมงค์

สำหรับผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ ผลงาน ‘ขาตั้งนิรภัยปลอดภัยไว้ก่อน’ จากทีมจากวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จังหวัดระยอง มีสมาชิกประกอบด้วย นางสาวสุภาพร ทองคำ นายชลสิทธิ์ จันทร์วิเศษ และ นายจาฏุพัจน์ แพบขุนทด โดยมีนายศรายุทธ ทบเนตร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สิ่งประดิษฐ์นี้จะช่วยลดอุบัติเหตุเกิดที่ขึ้นเนื่องจากผู้ขับขี่ลืมนำขาตั้งรถจักรยานยนต์ขึ้นเมื่อขับขี่ สิ่งประดิษฐ์นี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เพราะผู้ขับขี่จะไม่สามารถเข้าเกียร์และสตาร์ทรถได้หาไม่นำขาตั้งขึ้น โดยมีการติดตั้งสวิชท์ตัดไฟจากวงจรจุดระเบิดของรถจักรยานยนต์บริเวณขาตั้ง

การให้การสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ฟอร์ดให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง การประกวดโครงงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในโครงการ Go Further Innovator Scholarship เป็นเวทีที่ให้โอกาสเยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพคิดค้นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ฟอร์ดเชื่อว่าสิ่งใหม่ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดออกและพัฒนามาจากนักเรียนนักศึกษาไทยจะเป็นแนวทางและแรงผลักดันในการยกระดับและพัฒนาสิ่งดีๆ ให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *