มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จับมือ กฟผ. นำร่องโครงการโรงไฟฟ้าเสมือน

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จับมือ กฟผ. นำร่องโครงการโรงไฟฟ้าเสมือน

เตรียมต่อยอดสู่ภาคประชาชน

บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนับสนุนโครงการทดสอบนวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP) ภายใต้โครงการอีอาร์ซี แซนด์บ็อกซ์ เฟส 2 (ERC Sandbox Phase 2) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้รถยนต์ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าจากตัวรถกลับสู่โครงข่ายระบบไฟฟ้า (Vehicle-to-Grid หรือ V2G) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของไทย

มร. อาราตะ ทาคาฮาชิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์การตลาด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ กฟผ.ในการผลักดันโร้ดแมปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเพื่อสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีสุดล้ำสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในปัจจุบันอย่าง มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี เป็นรถยนต์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน เนื่องจากรถรุ่นนี้มีเทคโนโลยีระบบหัวชาร์จ CHAdeMo ซึ่งปัจจุบันเป็นระบบเดียวที่สามารถอัดประจุและคายประจุไฟฟ้าได้สองทิศทางจึงสามารถเป็นแหล่งพลังงานสำรอง พร้อมกับจ่ายไฟออกจากแบตเตอรี่สู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า (V2G) หรืออาคาร (V2B) ได้

ด้าน นางรังสินี ประกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวว่า “การส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของ กฟผ. เพื่อให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศมากขึ้น และสนับสนุนเป้าหมายคาร์บอนสมดุล (Carbon Neutrality) ของประเทศในปี 2050 ดังนั้น กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ จึงเตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต นำร่องศึกษาการควบคุมระบบการจ่ายไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (V2G) และ โรงไฟฟ้าเสมือน (VPP) ภายใต้โครงการ ERC Sandbox Phase 2 เพื่อเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด กฟผ. จึงร่วมกับ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาและทดสอบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าย้อนกลับเข้าสู่อาคาร (V2B) ณ สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม  มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการจัดทำข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติให้สอดรับกับแนวทางการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคตและเตรียมขยายผลสำหรับการใช้งานระบบดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ต่อไป”

โครงการโรงไฟฟ้าเสมือนมีเป้าหมายพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย โดยทั้ง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และ กฟผ. มีความมั่นใจว่าเทคโนโลยีนี้คือหนึ่งในทางออกที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตเมื่อความต้องการการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 ภายใต้ความร่วมมือกับ กฟผ. มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้ทำการปรับเปลี่ยนสถาบันการศึกษาและฝึกอบรม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ให้เป็นห้องทดลองโครงการโรงไฟฟ้าเสมือน โดยติดตั้งเครื่องอัดประจุและคายประจุไฟฟ้าในรถยนต์สำหรับบ้านเครื่องแรกของโลก รุ่นควอซาร์ (Quasar) จากแบรนด์วอลบ็อกซ์ (Wallbox) ซึ่งเป็นผู้นำด้านเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงาน เพื่อให้ กฟผ. ดำเนินการทดสอบด้วยการควบคุมระยะไกล และสั่งการชาร์จไฟสองทิศทางให้กับรถยนต์ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ภายใต้สถานการณ์จำลองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น การร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า โดยลดกิจกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจกด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านพลังงานทดแทน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ยังได้ทำการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่โรงงานแหลมฉบัง สร้างกระแสไฟฟ้ารวม 2 เมกะวัตต์ ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 6,100 ตัน และที่สถาบันการศึกษาและฝึกอบรมมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ซึ่งสร้างกระแสไฟฟ้าได้ 30 กิโลวัตต์ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินโครงการเพื่อสังคม “Solar for Lives: พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยเข้าไปติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่โรงพยาบาลชุมชนต่าง ๆ รวม 40 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2575 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ถึงกว่า 17,300 ตัน ในระยะเวลา 10 ปี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *