เพื่อบริหารการจัดการน้ำแบบองค์รวม
ปัญหาอุทกภัยเป็นภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยต้องประสบอยู่บ่อยครั้ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อในการรับน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก่อนเข้าสู่ปริมณฑลและกรุงเทพฯ ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกันโดยเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลาก บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีโรงงานผลิตรถยนต์ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีเจตนารมณ์ในการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงนำมาสู่ความร่วมมือกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2561 ในการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลน้ำ จ.พระนครศรีอยุธยา ภายใต้งบประมาณกว่า 3 ล้านบาท เพื่อนำฐานข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำของจ.พระนครศรีอยุธยา อย่างเป็นระบบ ถือเป็นความร่วมมือกันในหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการสนับสนุนของฮอนด้าในการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลน้ำ จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย
- จัดซื้อและติดตั้งครุภัณฑ์ สำหรับหน่วยปฏิบัติการสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเทศบาลเมืองอโยธยา
- จัดซื้อและติดตั้งครุภัณฑ์ สำหรับเชื่อมโยงข้อมูลการแสดงผลจากหน่วยปฏิบัติการฯ มายังห้อง
วิทยายุทธ ศูนย์ปฏิบัติการเหตุการณ์ส่วนหน้า จ.พระนครศรีอยุธยา - ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ไปยังเว็บไซต์ของศูนย์บริหารจัดการน้ำ จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 5 สถานี ได้แก่ ประตูระบายน้ำหันตรา ประตูระบายน้ำกระมัง ประตูระบายน้ำกลางคลองข้าวเม่า บริเวณวัดขนอนใต้ และบริเวณคลองช่องสะเดา
นอกจากนี้ ฮอนด้า ยังร่วมกับ สสน. จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในหน่วยงานท้องถิ่นระดับตำบลและระดับจังหวัด ให้กับบุคลากรในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อีกด้วย
การส่งมอบการสนับสนุนในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้ จ.พระนครศรีอยุธยา สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงและรับทราบข้อมูลภาวะความเสี่ยงต่อสถานการณ์อุทกภัย เพื่อนำมาสู่การเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและรับมือ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งสามารถขยายผลความสำเร็จไปยังจังหวัดใกล้เคียง ต่อไปในอนาคต